เราเห็นรถโม่ทำปูนซิเมนต์หกบนพื้นถนน บริเวณแยกมีนบุรี และ มีผู้หวังดีตักไปกองไว้ใต้สะพานข้ามถนน เมื่อกองปูนแห้งเป็นทรงภูเขาเล็กๆ เราขับรถผ่านไป-มา หลายสัปดาห์ ไม่เห็นมีหน่วยงานหรือใครกระเทาะกองหินออกไป วางเด่นเป็นสง่าอยู่ตรงนั้น และกลายเป็นที่ทิ้งพวงมาลัยแห้งที่แม่ค้าขายช่วงติดไฟแดงนำมาห้อยทิ้งที่กองซิเมนต์นี้ เราคิดเล่นๆ ถ้ามีใครอุตริหาผ้า 7 สีมาผูก และวางกระถางธูปเสียหน่อย คงจะขลังน่าดู
ไม่น่าเชื่อ...
ในสัปดาห์ถัดไป เราเพิ่งสังเกตเห็นว่ามีขวดน้ำแดงมาวางรอบหิน และมีธูปปักไว้ด้วย น่าจะมีคนมาขอพรและสมหวัง
อาทิตย์ถัดมาเราต้องผ่านเส้นทางนี้อีก คราวนี้เห็นมีผ้า 7 สี มาพันรอบหิน และมีหัวหมูต้ม (ตอนแรกนึกว่าตาฝาด) ใส่ถุงมาวางไว้ และจำนวนขวดน้ำแดงเพิ่มมากขึ้น ปัจจุบัน ยังคงมีพวงมาลัย ดอกดาวเรือง น้ำแดง น้ำ นม วางรอบหินก้อนนี้
จากปูนซิเมนต์เหลว ผูกกับความเชื่อที่แฝงด้วยความหวัง และความสมหวัง หินก้อนนี้น่าจะเติบโตเป็นหินศักดิ์สิทธิ์เต็มตัวแล้ว
เมื่อเดือนที่แล้ว (พฤศจิกายน 2560) เราเพิ่งสังเกตว่าหินก้อนนี้เล็กลง (เข้าใจเอง) ว่า คงมีใครสะกัดเอาไปเป็นวัตถุมงคล? ...จากความเชื่อ-ความหวัง ปากต่อปากสื่อสารกัน ถึงความสมหวังที่ได้รับ ..จะกลายเป็น ความศรัทธา??
ณ วันนี้ คิดว่าค่อนข้างยาก ที่ใครจะไปกระเทาะหินกองนี้ทิ้ง เพราะได้กลายเป็น หินศักดิ์สิทธ์ที่มีความเชื่อ ความหวังของกลุ่มคนที่ศรัทธา แม้ไม่รู้ (ไม่สนใจ) ที่มาของหินศักดิ์สิทธิ์กองนี้
สิ่งที่น่าคิด จากเส้นทางหินศักดิ์สิทธิ์
หากผู้บริหารสามารถสร้าง ความเชื่อ ความหวัง ความศรัทธา ให้กับสมาชิก ตามค่านิยมที่ดีที่เป็นแนวทางขององค์การได้แบบเดียวกับความกองหินนี้ จะส่งผลต่อ
พฤติกรรมการทำงาน การอยู่ร่วมกันของสมาชิกที่เป็นตัวแปรสำคัญในการสร้างความสำเร็จหรือความล้มเหลวขององค์การ ซึ่งเราทราบกันดีอยู่แล้วว่า ...การสร้างและพัฒนาวัฒนธรรมองค์กรจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องทำเพื่อให้องค์การเติบโตอย่างยั่งยืนและแข็งแกร่ง เพราะ
ความเชื่อ: เป็นขั้นตอนแรกที่จะทำให้ "คน" เข้ามารวมกัน มีแนวคิดเช่นเดียวกัน และ "พร้อม" จะปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกัน หรือ สื่อสารให้เข้าใจในทางเดียวกัน
ความศรัทธา: เป็นผลจากการพิสูจน์รู้ด้วยตนเองว่าแนวคิด หรือ หลักการนั้นๆ ส่งผลต่อตัวบุคคลนั้นๆ จากประสบการณ์จริงที่เริ่มจากการ รับรู้ การเชื่อ เข้าใจ ปฏิบัติจริง เห็นผลจริง ได้รับผลกระทบจริง ก่อให้เกิด..."ศรัทธา"
เชื่อว่า ...ทุกองค์การทั้งภาครัฐและเอกชนต้องการให้ "คนขององค์การ" เข้าใจเป้าหมายขององค์การในทิศทางเดียวกัน และคิด ปฏิบัติเพื่อให้ได้ผลลัพธ์บรรลุเป้าหมายขององค์การ
ดังนั้น องค์การควรเริ่มจากการ "สร้างความเชื่อ" ที่่สื่อสารสร้างความเข้าใจให้กับ "คนขององค์การ" ตั้งแต่ก้าวแรกของการเป็นสมาชิกขององค์การ คือ "การปฐมนิเทศ"
จากความเชื่อขององค์การ ...ต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่องไปสู่การปฏิบัติที่เป็นตัวอย่างให้เป็นรูปธรรม และจะต้องเป็นความเชื่อที่ยั่งยืน พัฒนาต่อเนื่องจนถึง "สร้างความศรัทธา" เพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ด้วยตนเองให้กับพนักงาน เพื่อให้เข้าใจว่าพฤติกรรมการประพฤติปฏิบัติจะส่งผลดีต่อตนเองและองค์การอย่างไร และ/หรือปรับเปลี่ยนให้องค์การเข้มแข็งได้อย่างไร
·
(¯`°.°.★* *★ .°.°´¯)*¤°·(¯`°.°.★* *★ .°.°´¯)*¤°
ครูพี่ตุ้ม 11-12-2560
#วัฒนธรรมองค์การ #ความเชื่อ #ค่านิยม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น